วิธีดำเนินการ

ในการขอรับมรดกของมารดาให้ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกนำหลักฐานหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน หลักฐานที่แสดงว่าเจ้ามรดกถึงแก่กรรม และหลักฐานที่แสดงว่าผู้ขอเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดก เช่น มรณบัตร ทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัว สูติบัตร หลักฐานการสมรส ฯลฯ ไปยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานที่ดินซึ่งที่ดินที่จะขอรับมรดกตั้งอยู่ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนแล้วเชื่อว่าผู้ขอเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกตามที่ขอแล้วพนักงานเจ้าหน้าที่ก็จะทำการประกาศมีกำหนด 30 วัน หากไม่มีผู้ใด โต้แย้งคัดค้านภายในเวลาที่ประกาศ พนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะดำเนินการจดทะเบียนให้ได้ กรณีที่เจ้ามรดกมีทายาทซึ่งมีสิทธิรับมรดกหลายคน เช่น ตามคำถาม เ จ้ามรดกมีบุตรหลายคน มีคู่สมรส และบิดามารดาของเจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ บุคคลที่กล่าวถือเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของมารดาที่เสียชีวิตทั้งสิ้น ดังนั้น หากทายาทบางคนจะขอจดทะเบียนรับมรดกทั้งหมด ก็จะต้องนำทายาทที่แสดงไว้ในบัญชีเครือญาติ ทุกคนไปให้ถ้อยคำยินยอมหรือนำหลักฐานแสดงว่าไม่รับมรดกของทายาทดังกล่าวนั้นไปแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในกำหนดเวลาที่ประกาศ พนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะจดทะเบียนให้ตามที่ขอ แต่ถ้าผู้ขอไม่สามารถนำทายาทที่แสดงไว้ในบัญชีเครือญาติทุกคนไปให้ถ้อยคำยินยอม หรือไม่สามารถนำหลักฐานแสดงการไม่รับมรดกของทายาทดังกล่าวไปแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในกำหนดเวลาที่ประกาศได้ พนักงานเจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถจดทะเบียนให้ได้และต้องยกเลิกคำขอไป หากจะขอให้จดทะเบียนโอนมรดกให้ พนักงานเจ้าหน้าที่ก็จะจดทะเบียนโอนมรดกบางส่วนให้ไปเท่าที่ผู้ขอมีสิทธิอยู่เท่านั้น

ค่าธรรมเนียม

การจดทะเบียนโอนมรดกเฉพาะในระหว่างผู้บุพการีกับผู้สืบสันดาน หรือระหว่างคู่สมรส จะเสียค่าธรรมเนียมร้อยละ 0.5 (ร้อยละห้าสิบสตางค์) จากราคาประเมินทุนทรัพย์